ดูพระแท้

พระคง พุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ สง่าภายใต้โพธิบัลลังก์

 

 

 

บันทึกเรื่องพระฤาษี 4 ตน

เป็นของเจ้าหลวงจักรคำ ขจรศักดิ์ (เจ้าหลวงลำพูนองค์ที่ 11) ซึ่งได้รับสืบต่อมา บันทึกนั้นลง ปี พ.ศ. 2437 (คงจะเป็นบันทึกของ เจ้าหลวงเหมไพจิตร) ภายหลังตกมาอยู่กับ เจ้าน้อยโกศล (เลขานุการ 2 สมัย คือ สมัยเจ้าอินทิ-ยงยศ และ เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์) บันทึกนั้นอ้างว่าได้คัดข้อความมาจาก จารึกใต้ฐานรูปพระฤาษีทั้ง 4 รูป ของเดิมที่เป็นศิลาแลง (คงไม่ใช่จารึกเก่าครั้งพระนางจามเทวี หรือ พระเจ้าสรรพ-สิทธิ์ เพราะจารึกสมัยนั้นจะต้องเป็นภาษามอญ เช่นของหลักที่ 18 ซึ่งพบที่ศาลพระกาฬ ลพบุรี และศาสตราจารย์ เซเดส์ อ่านออกเพียง 2 คำ แล้วคัดลอกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญโดยเฉพาะ เช่น ศาสตราจารย์ แบลกเดน, มองซิเออร์ ดูรัวเซล และ อาร์ ฮอลลิเดย์ นักปราชญ์ทางอักษรโบราณทั้ง 3 ก็ไม่สามารถจะอ่านได้มากไปกว่าท่านเซเดส์ได้ และแม้เพียงอักษรของสมัยพระเจ้าสรรพสิทธิ์ ก็จะต้องให้นักปราชญ์เหล่านี้อ่าน ในเมืองไทยไม่มีใครอ่านได้เลย จึงเห็นว่า คำจารึกเหล่านี้จะต้องเป็นของสมัยหลังที่ใช้อักษรไทยลานนานั่นเอง)

บันทึกนั้นกล่าวว่าด้านทั้งสี่ ของพระสถูปเป็นที่ประดิษฐานของรูปพระฤาษี ประจำด้านละรูป สร้างด้วยแลง (เข้าใจว่าจะเป็นหินทรายมากกว่า) มือถือไม้เท้าทุกรูป นอกจากรูปด้านตะวันออกมีถือพัดอีกด้วย ใต้ฐานมีอักษรจารึกว่า
ด้านเหนือ คือ สุเทวฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศเหนือ
ด้านใต้ คือ สุกกทันตฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศใต้
ด้านตะวันออก คือ สุพรหมฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศตะวันออก
ด้านตะวันตก คือ สุมณนารทะฤาษี ผู้รักษาพระนครฝ่ายทิศตะวันตก

มีข้อสังเกตว่า รูปพระฤาษีทั้งสี่ ซึ่งเป็นของใหม่ของพระเจดีย์นี้ดังกล่าวแล้ว มีอักษรลานนาจารึกไว้ที่ฐานทั้ง 4 รูป เป็นเนื้อความทำนองเดียวกัน อาจจะลอกมาจากของเก่าด้วยกันในสมัยเจ้าอินทิยงยศ ก็เป็นได้ ทั้งรูปพระ สุพรหมฤาษีรูปใหม่ ก็สร้างให้ถือพัดด้วย

พระเจดีย์ พระคง

เป็นพระเจดีย์ย่อมๆ ที่สร้างขึ้นใหม่ ฐานเป็นแท่นสี่เหลี่ยม ตัวพระเจดีย์เป็นรูประฆัง ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉน ลักษณะทรวดทรงเป็นแบบเจดีย์ทางภาคกลาง ฐานกว้างด้านละ 1.50 เมตร และส่วนสูง 3.00 เมตร ประดิษฐานอยู่ทางด้านเหนือของพระเจดีย์ฤาษี ในบริเวณพื้นที่ระหว่างวิหารกับศาลา พระครูบาคัมภีระ เป็นผู้สถาปนาเจดีย์นี้ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2473 โดยรวบรวม พระคง และพระบาง ซึ่งจมดินเรี่ยราดอยู่ในเขต อุปจารของพระอารามบรรจุไว้ในพระเจดีย์นี้ สำหรับส่วนที่เหลือจากการบรรจุ ท่านได้เอาไปฝังไว้ในที่แห่งหนึ่งบริเวณใกล้เคียงนอกเขตวัด เพื่อป้องกันคนขุดทำลายพื้นที่ของวัดเพื่อหาพระ

บันทึกการเปิดกรุและการขุดหา พระคง

ตามปกติแต่ก่อนนั้น ในบริเวณลานอุปจารของพระอารามทั่วๆ ไป ตลอดจนพื้นที่รอบวัด มักจะมีผู้ขุดพบ พระคง เสมอมา พระคง มีปริมาณมหาศาล จมเรี่ยราดอยู่ตามพื้นดินลึกบ้างตื้นบ้าง ทำนองเดียวกับการปรากฏของ พระรอด และ พระนางพญา ฯลฯ แต่มีปริมาณมากกว่า ท่านศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ กล่าวว่า (ตำนานพระพิมพ์ น.15) วัดพระคง ยังมีพระพิมพ์เล็กๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นรูปพระพุทธเจ้า ประทับนั่งอยู่ใต้โพธิพฤกษ์ อันได้ทำขึ้นที่นั่นเป็นเวลานานมาแล้ว ขุดได้บริเวณวัดนี้หลายร้อยหลายพันแม้ในทุกวันนี้ ถึงว่าจะมีการเปิดกรุพระพิมพ์กันมาแล้วเป็นเวลานานก็จริง แต่พระพิมพ์ยังคงมีอยู่เสมอ จนกล่าวเป็นสามัญว่า ถ้าใครมีบุญแล้ว เป็นแต่คุ้ยเขี่ยแผ่นดินที่นั่นเพื่อหาพระ เป็นต้องได้เสมอทีเดียว

ร.ต.ดิลก มณฑา อดีตผู้ช่วยสัสดีจังหวัดฯ บ้านอยู่ใกล้วัดพระคง เล่าว่า วันหนึ่งได้ฟื้นที่ดินเพื่อทำสวนครัว ได้พระคงขึ้นมาองค์หนึ่ง นายสุเชษฐ์ วิชชวุต ครูใหญ่ ร.ร.ลำพูน จักรคำคณาธร เล่าว่า เมื่อสมัยที่ยังเป็นเด็ก มักจะพบพระคงเสมอตามพื้นดินลานวัด หรือใกล้ๆ วัด แต่ในสมัยนั้นมักจะขาดผู้สนใจจริงๆ ด้วยเหตุที่ว่ามีปริมาณมาก ผู้เฒ่าผู้แก่ในลำพูนมักจะเล่าให้ฟังอยู่บ่อยๆ ถึงความมีมากของพระคงว่า แต่ก่อนนั้นแม้เพียงฝนตกชะที่ดินในลานวัด ก็มักจะมี พระคง โผล่ขึ้นมาจากพื้นดินเสมอๆ ผู้ที่อยู่หลังวัดพระคงมักจะได้ พระคง อยู่บ่อยๆ เช่นจากการขุดหลุมหน่อกล้วย เป็นต้น และเมื่อเร็วๆ นี้ พนักงานเทศบาลคนหนึ่งได้ พระคง องค์หนึ่ง ในการขุดหลุมฝังเสาไฟฟ้าใกล้บริเวณวัดพระคง

การเปิดกรุพระเจดีย์ พระคง

เมื่อปี พ.ศ.2485 ซึ่งเป็นสมัยสงครามมหา-เอเชียบูรพา และเป็นระยะเวลาที่มีการขุดหาพระเครื่องฯสกุลลำพูนกันมาก เจ้าจักรคำ ขจร-ศักดิ์ ได้ดำริให้มีการ เปิดกรุ พระคง ณ พระเจดีย์พระคง ซึ่งพระครูบาคัมภีระได้บรรจุไว้ ได้ พระคง และพระบางออกมาเป็นจำนวนมากมายหลายพันองค์ ส่วนใหญ่ของพระที่ขุดได้ในครั้งนี้ได้ถูกนำไปแจกหน่วย ทหารกองทัพพายัพที่มาตั้งอยู่ในลำพูน การเจาะกรุพระเจดีย์ฤาษี ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีการเจาะฐานพระเจดีย์ฤาษีตรงใต้ฐานพระพุทธรูปด้านหนึ่ง ได้เจาะลึกเข้าไปเพียง 2 ชั่วแผ่นอิฐ ก็ได้พระคงออกมาประมาณ 10 องค์เศษ และเจ้าวรทัศน์ฯ ได้พระคงรุ่นนี้ไว้ส่วนหนึ่ง การขุดหา พระคง และพระบาง หลังวัดพระคง ได้กระทำในปี พ.ศ. 2499 ภายในบริเวณที่ดินของนายขาว สันติภัค อายุ 51 ปี มีอาชีพเป็นครู สอนประจำ ร.ร.ประชาบาลบ้านหลุก นายขาว สันติภัค ได้เล่าว่า คืนวันหนึ่งเขาฝันว่า มีชายชราผู้หนึ่งมาเข้าฝันบอกว่า ตัวแกเป็นผู้เฝ้ากรุ พระคง มาช้านานแล้ว บัดนี้ถึงเวลาจะต้องไปเกิดใหม่ จึงมาบอกให้ไปขุดพระกรุนั้นเสีย แล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้บ้าง ความในฝันนั้นชายชราได้นำเขาไปชี้ยังตำบลที่ฝังพระ เมื่อเขาตกใจตื่นขึ้นยังจำสถานที่ที่ชายชราชี้บอกได้ จึงลงจากเรือนไปปักไม้เป็นเครื่องหมายไว้ การขุดได้กระทำในวันรุ่งขึ้นคือ 15 เม.ย. 99 ในการขุดครั้งแรกได้พบอิฐโบราณขนาดเขื่องเป็นจำนวนมาก คล้ายเป็นทรากกรุเก่า และก่อนจะพบพระ ได้พบกะโหลกศีรษะคนโบราณขนาดเขื่องและหนามาก แต่เมื่อเอาขึ้นมาถูกอากาศก็ร่วนเป็นผงไปหมด นอกจากฟัน 2-3 ซี่ ขนาดเขื่องกว่าฟันมนุษย์สมัยปัจจุบันมาก ต่อจากนั้นก็ได้พบ พระคง และพระบางเพียง 2-3 องค์ก่อน และได้พบเรื่อยๆ มาแต่ไม่สู้มากนัก ทั้งมักจะชำรุดหักบิ่นเป็นส่วนมาก ในการขุดนั้นเมื่อหลุมลึกขนาดแค่คอ ก็เปลี่ยนขุดหลุมใหม่ต่อไป

มีข้อสังเกตว่าก่อนจะพบพระ จะต้องพบแผ่นอิฐโบราณก่อนเสมอ และบางแห่งแผ่นอิฐจะมีลักษณะติดต่อกันเป็นแนวกำแพง ซึ่งเข้าใจว่าคงจะเป็นแนวขอบ สิ่งก่อสร้างของพระอารามโบราณหรือแนวกำแพงวัด และได้พบดินที่จับตัวกันแน่นเป็นก้อนๆ ภายในมีพระคงและพระบางฝังอยู่ บริเวณที่พบพระมากคือตรงที่มีตาน้ำ แต่พระที่ขุดได้ตรงบริเวณตาน้ำผิวมักจะลุ่ยทำให้เนื้อหยาบไป (เช่นเดียวกับ พระนางพญา กรุบางสะแก) ส่วนบริเวณดินเหนียวพระที่ขุดได้ขึ้นมาเนื้อจะละเอียดและแน่นดีมาก พระที่ขุดได้ครั้งละมากๆ นั้น มักจะอยู่เรียงกันเป็นตับ และบางองค์ก็สลับหัวท้ายกันบ้าง สำหรับหลุมสุดท้ายขุดได้พระบางเป็นจำนวนมาก และเรียงกันเป็นตับเช่นเดียวกับ พระคง และมีทั้งประเภทเนื้อดินเผาและเนื้อผงหิน ประเภทเนื้อดินเผามีทั้งชนิดเนื้อดินนุ่ม และเนื้อดินแกร่ง มีทั้งเนื้อจัด,ละเอียด และเนื้อสากเป็นทรายเพราะเสียผิว ส่วนมากเป็นสกุลวรรณะเหลืองและแดงเรื่อๆ พระคง ที่มีวรรณะแดงจัดมีเพียง 2-3 องค์ ส่วนประเภทเนื้อผงหิน จะมีคราบคำปรากฏเป็นส่วนมาก ประเภทเนื้อผงใบลานเผา (ดำ) ปรากฏเป็น พระคง เพียงองค์เดียว พิมพ์เขื่องมากและเนื้อแกร่ง สำหรับพระบางเนื้อใกล้เคียงกับ พระคง นอกจากวรรณะแดงจัดและดำ ไม่ปรากฏเนื้อผงหิน (เขียว) ส่วนมากมีคราบคำจัด บางองค์คราบคำมีลักษณะเป็นดอกดวงคล้ายลายตุ๊กแก และที่จับเนื้อตลอดองค์ จนดูคล้ายวรรณะแดงทั้งองค์ก็มีปรากฏ นอกจากนั้นยังได้พระฦา 2-3 องค์, พระเลี่ยง 2-3 องค์พระเลี่ยงหลวงแบบต่างๆ 2-3 องค์ และพระสิบสององค์หนึ่ง ยอดชำรุด อรรถรสสำนวนทางวิชาการของท่านอาจารย์ ตรียัมปวาย ยังคงเป็นอมตสะและทันสมัย น่าเชื่อ ทรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาอันน่ายกย่องอย่างยิ่ง หวังว่าท่านผู้อ่าน คงได้รับความรอบรู้จากข้อเขียน ของท่านอาจารย์ที่ได้พรรณนามาแต่เบื้องต้นนั้นเป็นอย่างดี แม้วันเวลาจะผ่านมาเนิ่นนานเพราะข้อเขียนชิ้นนี้ท่านเขียนไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2503 นับถึงวันนี้ก็ 57 ปี เข้าไปแล้ว

ที่มา : ย่อจาก ลานโพธิ์ ฉบับที่ 854 เดือนพฤษภาคม 2545 
: พระคง พุทธศิลป์อันเป็นเอกลักษณ์ภายใต้โพธิบัลลังก์ เรื่อง

เก่ง กำแพง

เก่ง กำแพง เก่ง กำแพง

ร้านพระเครื่อง