พระนางพญา วัดนางพญา เป็นพระยอดนิยมอันดับหนึ่งของเมืองพิษณุโลก และเป็นหนึ่งในชุดพระเบญจภาคีซึ่งเป็นสุดยอดของพระเครื่องเมืองไทย ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุด สำหรับพระนางพญาสมควรค่าแก่สมญานาม “ราชินีแห่งพระเครื่อง”
พระนางพญาเป็นพระพุทธรูปปฏิมากรรมขนาดเล็กรูปทรงสามเหลี่ยม สร้างจากดินนำมาเผาให้สุกเสร็จแล้วบรรจุไว้ในกรุเจดีย์ด้านหลังโบสถ์ “วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก” ภายหลังเจดีย์ได้พังลงมาพระนางพญาที่บรรจุในกรุก็กระจัดกระจายอยู่เต็มลานวัดนางพญา
วัดนางพญา เป็นวัดเล็กๆ อยู่ตรงข้ามกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ หรือวัดใหญ่ จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานองค์พระพุทธชินราช สำหรับวัดนางพญานั้นถึงแม้ว่าจะเป็นวัดที่ค่อนข้างเล็กแต่ชื่อเสียงของวัดนางพญาเป็นที่รู้จักเลื่องลือของคนไทยทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักสะสมพระเครื่องต่างรู้จักกันเป็นอย่างดีเพราะเป็นสถานที่ซึ่งค้นพบพระนางพญา ยอดพระเครื่องที่ทุกคนใฝ่หานั่นเอง

ประวัติการแตกกรุ
พระนางพญา กรุวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เป็นพระที่อยู่ในกรุเจดีย์วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เริ่มมีการค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2444 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เพื่อทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลองเพื่อนำมาเป็นพระประธานที่วัดเบญจมบพิตร
ในครั้งนั้นล้นเกล้าฯ รัชกาลที่5 ได้เสด็จประพาสวัดนางพญาด้วย ซึ่งทางจังหวัดได้เตรียมการรับเสด็จที่วัดนางพญา โดยทำการจัดสร้างปะรำพิธีเพื่อรับเสด็จ เมื่อคนงานได้ขุดหลุมเสาก็ได้พบพระนางพญาเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดและเจ้าอาวาสในสมัยนั้นจึงได้เก็บรวบรวมพระไว้ได้เป็นจำนวนหนึ่ง
ในการเสด็จประพาสต้นหัวเมืองฝ่ายเหนือของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นไปยังวัดนางพญา ทางจังหวัดและเจ้าอาวาสวัดนางพญาจึงได้นำพระนางพญาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแจกจ่ายให้แก่ข้าราชบริพารที่ตามเสด็จกันถ้วนหน้า และได้นำพระนางพญาบางส่วนลงมายังกรุงเทพฯ
เหตุที่มีการค้นพบพระนางพญาอยู่ทั่วบริเวณวัดนางพญานั้น สันนิษฐานว่า เจดีย์หลังโบสถ์พระประธานวัดนางพญาล้มลง พระนางพญาจึงกระจัดกระจายเต็มลานวัด ทางวัดได้นำเศษอิฐปูนอันเป็นซากพระเจดีย์ที่ล้มลงไปเทถมในสระน้ำกลางวัด
นอกจากนี้ก็ยังขุดพบบางส่วนในกรุวัดต่างๆ ในจังหวัดพิษณุโลกอีกด้วย แต่มีไม่มากนัก เจดีย์ละองค์สององค์ ส่วนใหญ่เก็บไว้บนยอดพระเจดีย์เป็นส่วนใหญ่ แม้แต่คราวบูรณะพระประธานในโบสถ์วัดนางพญาซึ่งเป็นพระประธานปูนปั้นชำรุด ทางวัดได้กระเทาะเอาปูนฉาบที่เสื่อมคุณภาพออก ช่างที่ซ่อมแซมองค์พระประธานได้พบพระนางพญาบนยอดพระเกศองค์พระประธาน เป็นพระนางพญา พิมพ์เข่าตรง พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ พระนางพญา พิมพ์ทรงเทวดา และพระนางพญา กรุโรงทอ ซึ่งเป็นพระที่ล้วนแล้วแต่พุทธลักษณะสวยงามทั้งสิ้น
พระนางพญา ฝากกรุในกรุงเทพมหานคร
นอกจากค้นพบพระนางพญาจากกรุในจังหวัดพิษณุโลกแล้ว ยังได้มีการค้นพบพระนางพญาในกรุงเทพฯ มีลักษณะพิมพ์ทรงและเนื้อหาแบบเดียวกันกับพระนางพญาจากกรุวัดนางพญาทุกประการ สันนิษฐานว่าเป็นพระนางพญา กรุวัดนางพญานำมาฝากกรุไว้ตั้งแต่คราวปี 2444 นั่นเอง ซึ่งการค้นพบพระนางพญาในกรุต่างๆ ในกรุงเทพฯ มีหลายกรุด้วยกัน ได้แก่
พระนางพญา กรุวัดอินทร์
ประมาณปี พ.ศ.2479 ได้มีการพบพระนางพญาที่วัดอินทรวิหาร โดยมีคนเจาะเจดีย์องค์หนึ่งพบพระนางพญาบรรจุอยู่ในบาตรผุ มีพระนางพญาบรรจุอยู่จำนวนหนึ่งประมาณ 700 องค์ มีคราบสีน้ำตาลไหม้ของสนิมเหล็กจับอยู่ ซึ่งพระนางพญาที่พบในเจดีย์วัดอินทรวิหาร ปรากฏมีครบทุกพิมพ์ แต่จะพบพิมพ์สังฆาฏิ พิมพ์เทวดา และพิมพ์อกนูนเล็กมากกว่าพิมพ์อื่นๆ และที่สำคัญได้มีการค้นพบแผ่นลานเงิน ลานทอง และลานนาก ขนาดเท่าฝ่ามือ มีจารึกข้อความบอกเรื่องราวการบรรจุพระนางพญากรุนี้ไว้ว่า เป็นพระที่รับพระราชทานในคราวที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกเพื่อนมัสการพระพุทธชินราชและทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง มีผู้นำพระนางพญาขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระองค์
พระนางพญา กรุวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ) กทม.
นอกจากได้พบพระนางพญา ที่เจดีย์วัดอินทรวิหารแล้ว ก็ได้มีการพบพระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลกที่กรุวัดราชบูรณะ(วัดเลียบ)กรุงเทพฯ เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรได้มาทิ้งระเบิดโรงไฟฟ้าวัดเลียบ และสะพานพุทธ เจดีย์ในวัดเลียบโดนระเบิดพังลงมาจึงได้พบพระขรัวอีโต้ และพระนางพญา วัดนางพญา รวมอยู่ด้วยแต่มีจำนวนน้อยมาก ลักษณะสำคัญของพระกรุนี้จะมีการลงรักปิดทองแทบทุกองค์
พระนางพญา ที่กรุวังหน้า กทม.
พบเมื่อปี พ.ศ.2502 ขณะที่มีการบูรณะพระอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้าข้างโรงละครแห่งชาติ ได้มีการค้นพบพระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก ที่บนเพดานพระอุโบสถ ใต้ฐานชุกชีและตามพื้นพระอุโบสถซึ่งเต็มไปด้วยเศษอิฐ ดิน ทรายที่ทับถมกันอยู่ พระนางพญา วัดนางพญา พิษณุโลก ที่พบจากกรุนี้จะมีเนื้อแห้งสนิทและลงรักปิดทองทุกองค์ รักทองแห้งสนิท มีจำนวนไม่มากนัก
พระนางพญา ที่กรุวัดสังข์กระจาย
พระนางพญาที่พบเป็นครั้งสุดท้ายคือ พระนางพญา จากกรุวัดสังข์กระจาย กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ.2509 พบขณะที่ทางวัดกำลังรื้อเจดีย์อยู่ พระนางพญาที่พบมีเนื้อแห้งจัด พระจากกรุนี้พบน้อย แต่ส่วนมากจะสวย และไม่ปรากฏการลงรักปิดทองเหมือนกับวัดอื่นๆ
พระนางพญา วัดนางพญา กรุน้ำ
พระนางพญา วัดนางพญา กรุน้ำ หรือที่เรียกว่า“กรุบางสะแก กรุเหนือ หรือกรุตาปาน”เป็นพระนางพญาที่ขุดค้นพบภายในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อราวต้นปี พ.ศ.2487 ที่ตำบลบางสะแก ณ บริเวณลานบ้านนายปาน ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ใกล้กับวัดชีปะขาวหาย สาเหตุของการค้นพบก็เนื่องมาจากตาปานเจ้าของบ้านต้องการย้ายเสาเรือนใหม่ และขณะขุดหลุมเสาอยู่นั้นก็ได้พบหม้อดินซึ่งภายในบรรจุพระนางพญาไว้ เมื่อขุดขยายหลุมจนทั่วแล้วก็ได้พระนางพญาอีกจำนวนหนึ่ง ประมาณพันกว่าองค์ พระนางพญากรุนี้ผิวจะเสีย ทำให้เห็นเม็ดแร่ผุดพรายจากในเนื้อ เพราะหม้อดินถูกน้ำท่วมขังจนซึมเข้าไปเป็นเวลานาน ทำให้ผิวพระเสียสภาพไป
นอกจากนี้แล้วยังมีการขุดค้นพบพระนางพญาทั้งจากกรุวัดนางพญา และบริเวณใกล้เคียงอีกหลายครั้ง พบพระจำนวนมากบ้าง น้อยบ้าง ครั้งล่าสุดเมื่อประมาณปี พ.ศ.2530 ได้มีการพบพระนางพญา อยู่ภายในเจดีย์องค์หนึ่งซึ่งตั้งอยู่นอกวัดนางพญาที่สร้างติดกับถนนทางหลวง ตามกระแสข่าว กล่าวกันว่าเป็นพระนางพญาที่หลวงตาที่วัดนางพญาได้เก็บพระซึ่งตกเรี่ยราดอยู่ตามโคนพระเจดีย์ไว้ แล้วนำไปบรรจุในพระเจดีย์ซึ่งสร้างใหม่ พระชุดนี้มีไม่มากนัก แต่เป็นพระที่ค่อนข้างสวยงามและสมบูรณ์มาก มีพระนางพญา พิมพ์เข่าโค้ง พิมพ์อกนูนใหญ่ ที่ปรากฏหู ตา จมูกอย่างชัดเจน