พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ กรุน้ำท่วม เป็นพระดินเผา พิมพ์เดียวกันและสร้างในสมัยเดียวกันกับพระนางพญา กรุพระเจดีย์ ในวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก เพียงแต่ว่าที่ของกรุน้ำท่วมนั้น เดิมทีเป็นป่าที่ชานเมืองพิษณุโลก ห่างจากวัดนางพญาไปประมาณ 3 กิโลเมตร อยู่ติดแม่น้ำ เป็นบริเวณที่พระฤาษีผู้สร้างพระนางพญามาทำพิธีบวงสรวงสร้างพระดินเผาในพิมพ์ต่าง ๆ และสร้างเตาเผาโดยการก่ออิฐฝังเตาเผาในดิน ดินที่ใช้สร้างพระนางพญา จะเป็นดินในจังหวัดพิษณุโลก เป็นดินผสมกรวดทรายอย่างละเอียด เมื่อสร้างพระนางพญาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระทั้งหมดก็ถูกลำเลียงไปยังวัดนางพญา เป็นระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร บรรจุอยู่ในคอระฆังของพระเจดีย์ หลังพระอุโบสถของวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก
ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้เสด็จไปทรงสร้างพระพุทธรูปชินราชจำลองที่จังหวัดพิษณุโลก พระเจดีย์ซึ่งบรรจุพระนางพญาภายในวัดนางพญา ที่มีอายุการสร้างยาวนานกว่า 400 ปี ได้เสื่อมโทรมพังทลายลงมา พระนางพญาได้กระจัดกระจายเกลื่อนไปทั่วบริเวณวัด ตอนนั้นพระบาทสมเด็พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำพระนางพญาบางส่วนกลับมายังกรุงเทพฯ และได้นำพระนางพญาไปบรรจุในวัดในกรุงเทพมหานครอยู่สองวัด พระนางพญาที่เหลือบางส่วนได้ถูกนำไปบรรจุในคอระฆังพระเจดีย์หน้าวัดนางพญา ปัจจุบันได้เปิดกรุไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนพระนางพญาที่เหลือตกหล่นอยู่ภายในบริเวณลานสร้างวัดพระนางพญานั้น ที่จังหวัดพิษณุโลกมักจะมีน้ำท่วมทุกปี พระนางพญาที่ตกหล่นก็ค่อยๆถูกฝังลงในดิน ร่วมกับอิฐก่อเตาเผา และเศษกระเบื้อดินเผา ค่อย ๆ ฝังลึกลงไปเป็นเวลานาน โดยในภายหลังที่ดินในบริเวณนั้นได้กลายเป็นดงกล้วยของที่ดิน เมื่อตาเช็งขุดพระขึ้นมา ต้องค่อย ๆ ขุดด้วยแมลงหางม้า จึงจะสามารถค้นพบพระนางพญา ท่ามกลางเศษกระเบื้องดินเผาและเศษอิฐ
พระนางพญากรุน้ำท่วม จึงมีพุทธศิลป์เหมือนกับพระนางพญาภายในกรุพระเจดีย์วัดนางพญา แต่มีผิวที่ถูกน้ำท่วมทำให้กรวดทรายในเนื้อพระลอยขึ้นบ้าง ต่างจากพระนางพญาที่มีกรวดทรายจมอยู่ใต้ผิวดินเผา เห็นเป็นเม็ดดินที่หุ้มกรวดทรายโผล่เป็นเม็ด ๆ เราเรียกกันว่า “มีผด” อันเป็นเอกลักษณ์ของการดูพระนางพญา วัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลกครับ
สำหรับพระนางพญากรุน้ำท่วม จะมีดินที่จับบนองค์พระดูสีดินที่เข้มกว่าที่เห็นดินขี้กรุในวัดนางพญา มีรารักขึ้นอยุ่เป็นส่วนใหญ่ อันเกิดจากน้ำยางรากกล้วยที่ฝังอยู่ในดิน ซึ่งมีเอกลักษณ์ของรารักต่างกับพระดินเผาในกรุกำแพงเพชรครับ