พระผงสุพรรณ กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี พระเครื่องอันดับหนึ่งของจังหวัด ได้รับการยอมรับยกย่องให้เป็นหนึ่งในพระชุดเบญจภาคี พระยอดนิยมของประเทศไทย
อันว่า “พระผงสุพรรณ” นี้ จากจารึกลานทองได้กล่าวถึงเนื้อมวลสารไว้ว่ามี 2 เนื้อ คือ เนื้อดินเผาและเนื้อชิน “พระเนื้อดินเผา” จะเป็นส่วนผสมของดิน ว่าน และเกสรดอกไม้ต่างๆ แล้วเข้าเตาเผาตามแบบกรรมวิธีการสร้างพระพิมพ์สมัยโบราณ ส่วน “พระเนื้อชิน” หรือที่รู้จักกันในนาม “พระผงสุพรรณยอดโถ” จะสร้างจากแร่ธาตุและโลหะต่างๆ
พระผงสุพรรณ ที่นับเป็นพระยอดนิยมจะเป็นพระเนื้อดินเผา ซึ่งเป็นดินของ จ.สุพรรณบุรีที่ค่อนข้างละเอียดเป็นมวลสารหลัก แล้วนำมาผ่านการกรอง หมัก และนวดอย่างละเอียด ผสมกับว่านและเกสรดอกไม้มงคล โดยวิธีการนำหัวว่านมาคั้นเอาแต่น้ำมาผสมเรียกว่า “แก่ว่าน” ฉะนั้น เมื่อผ่านกรรมวิธีการเผาผิวขององค์พระจึงไม่เป็นโพรงจากการย่อยสลายของเนื้อว่าน เนื้อจะดูชุ่มฉ่ำไม่แข็งกระด้าง วงการพระเรียก “หนึกนุ่มซึ้งจัด” อันเป็นลักษณะพิเศษที่ต่างจากเนื้อดินทั่วๆ ไป อีกทั้งกรรมวิธีการเผามีการควบคุมอุณหภูมิความร้อนให้สม่ำเสมอ ทำให้เนื้อขององค์พระมีสภาพแข็งแกร่งไม่เปราะหักง่ายเหมือนพระเนื้อดินเผาอื่นๆ แต่สีสันยังคงเป็นเช่นเดียวกับพระเนื้อดินที่ผ่านการเผา คือ มีตั้งแต่สีแดง สีมอย สีน้ำเงินเข้ม สีเทา ไปจนถึงสีดำ ลักษณะการตัดขอบก็ไม่มีรูปแบบที่แน่นอนและไม่มีความละเอียดพิถีพิถัน บางองค์เป็นเหลี่ยมสี่ด้านบ้าง ห้าด้านบ้าง บางองค์ตัดปีกกว้าง บางองค์ตัดเฉพาะด้านซ้ายขวาและล่างแล้วปล่อยด้านบนไว้ ฯลฯ ลักษณะพิเศษอีกประการหนึ่งคือ ในขั้นตอนการสร้างจะใช้วิธีใส่เนื้อมวลสารลงในแม่พิมพ์แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือกดด้านหลังให้แน่น จึงปรากฏ “รอยนิ้วมือ” ที่ด้านหลังขององค์พระเป็นลักษณะของนิ้วคนโบราณ และมีเส้นลายนิ้วมือเป็นแบบก้นหอย
เนื่องจาก “พระผงสุพรรณ” เป็นพระที่บรรจุในกรุ และผ่านกาลเวลายาวนาน จึงมีคราบดินกรุติดอยู่ทั่วบริเวณองค์พระและตามซอกต่างๆ เรียกว่า “นวลดิน” โดยเฉพาะพระที่ไม่ได้ผ่านการใช้จะปรากฏชัดเจน คราบนวลดินนี้จะเกาะติดแน่นแทบกลืนเป็นเนื้อเดียวกันกับผิวขององค์พระ นับเป็นเอกลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่ง
พระผงสุพรรณ เป็นพระขนาดเล็ก พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับนั่ง แสดงปางมารวิชัย บนฐานเขียงชั้นเดียว พระเกศคล้ายฝาละมี มีกระจังหน้า พระพักตร์เคร่งขรึม พระนาสิกหนาใหญ่ พระอุระหนา พระกรทอดเรียว ที่เน้นความละม้ายคล้ายคลึงมนุษย์แบบศิลปะสกุลช่างอู่ทอง ลักษณะการแบ่งจำแนกพิมพ์และการเรียกชื่อก็เหมือนกับพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองคือ พิมพ์หน้าแก่ พิมพ์หน้ากลาง และพิมพ์หน้าหนุ่ม