ดูพระแท้

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ว่ากันว่าหายากยิ่ง

 

 

 

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ว่ากันว่า'หายากยิ่ง
พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ปรกโพธิ์ว่ากันว่า'หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร'
            พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพระสมเด็จที่ถูกเถียงกันมากที่สุดในวงการพระเครื่องพระบูชาและเหรียญคณาจารย์ บางท่านก็จัดให้เป็นพิมพ์ของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ปรกโพธิ์ ที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้สร้าง แต่บางท่านก็ไม่ยอมรับ โดยให้เหตุผลว่าขาดหลักฐานยืนยันและไม่มีเอกลักษณ์อันสำคัญของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม เหมือนเช่นพระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์เกศบัวตูม ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม เช่น

            มวลสารพระพุทธคุณ การตัดขอบทั้ง ๔ ด้าน ความหดตัวของมวลสารจนปรากฏร่องรอยของเม็ดพระธาตุ รอยรูพรุนเข็มรอยหนอนด้น รอยปูไต่ และรายละเอียดอื่นๆ อีกหลายประเด็น และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือพระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพระที่มีจำนวนน้อยมาก ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร จึงทำให้วงการพระเครื่องไทยเรายังไม่จัดให้พิมพ์ปรกโพธิ์ที่พบอยู่ทั่วไปเป็นพิมพ์มาตรฐานของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จเป็นผู้สร้าง ส่วนใหญ่จะอนุโลมให้เป็นของวัดบางขุนพรหม

            อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี และเจ้าของ www.aj-ram.com บอกว่า พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ปรกโพธิ์ มาโด่งดังมากในสมัยที่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) เปิดกรุเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ และพบพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) เป็นพิมพ์ปรกโพธิ์ ผู้คนจึงแตกตื่นว่าน่าจะมีพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ปรกโพธิ์เช่นกัน

            พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) พิมพ์ปรกโพธิ์ ส่วนใหญ่จึงมีการซ่อมแซมและตกแต่งใหม่ จึงทำให้พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) พิมพ์ปรกโพธิ์หลายต่อหลายองค์จึงมีความคลาดเคลื่อน มีรายละเอียดของพุทธลักษณะที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง

            พระนามว่า “พิมพ์ปรกโพธิ์” มาจากพระพุทธศิลป์เป็นองค์พระปางสมาธิใต้ร่มโพธิ์บัลลังก์ โดยประดิษฐานในซุ้มครอบแก้วอันเป็นสัญลักษณ์แห่งการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธองค์ และศิลปะพระพุทธรูปใต้ร่มโพธิ์นี้ได้รับความนิยมในการจำลองการพิมพ์พระเครื่องเรื่อยมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะเป็นที่นิยมกันมากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

            ทั้ง อ.ราม ยกตัวอย่างพุทธลักษณะทั่วๆ ไปของพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพระสมเด็จที่บรรจุอยู่ในกรุพระเจดีย์ของวัดใหม่อมตรส สภาพขององค์พระสมเด็จจึงมีขี้กรุที่มีเอกลักษณ์ของกรุวัดบางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) โดยเฉพาะ และมีข้อน่าสังเกต เช่น

            ตำหนิศิลปะแม่พิมพ์ของโพธิ์จะปรากฏช่อโพธิ์อยู่ประมาณ ๒๐ ช่อ ครอบคลุมอยู่ด้านบนและด้านข้างของพระเศียรพระประธาน

            สำหรับการพิมพ์ด้านหลังขององค์พระมีเพียงพิมพ์เดียวเท่านั้นคือ “พิมพ์หลังเรียบ”

            พุทธศิลปะขององค์พระประธานและฐานทั้ง ๓ ชั้น จะหนาใหญ่ สง่างาม คล้ายพิมพ์เกศบัวตูม สังเกตได้จากลำพระกรจะอวบอ้วน พระเพลา (หน้าตัก) จะหนาใหญ่ ฐานทั้ง ๓ ชั้น จะหนาและใหญ่กว่าพระสมเด็จวัดยางขุนพรหม (วัดใหม่อมตรส) พิมพ์อื่นๆ หากตัดซุ้มโพธิ์ออก ศิลปะจะเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม

            อย่างไรก็ตามพึงระลึกไว้เสมอตามคำของโบราณาจารย์ว่า พระสมเด็จ พิมพ์ปรกโพธิ์ นั้น หายากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก

เก่ง กำแพง

เก่ง กำแพง เก่ง กำแพง

ร้านพระเครื่อง